“ลูกพี่ครับ…. HSE ของลูกค้าแจ้งผ่านมาทาง Project Site Manager ต้องการให้เราจัดหา เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยทีมปฏิบัติงานทางรังสี ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานครับ (คนเฝ้าเป็ด)…..ลูกค้าอ้างอิงตาม กฎ กระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวด ล้อมในการทำงานเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน พ.ศ. 2547 คร้าบบบบ!!!”
ผมถอนหายใจ สองเฮือกติด….. ไม่ใช่เพราะจิตสำนึกในการให้บริการต่ำ หรือมีทัศนคติเลวร้าย มองเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยากในทางปฏิบัติ แต่ผมกำลังรู้สึกทอดถอนใจให้กับความซ้ำซ้อน และไม่ชัดเจนของกฎ ที่ใช้ในการกำกับดูแลความปลอดภัย ของงานรังสีอุตสาหกรรม ผมรู้สึกเห็นใจ และเข้าใจในความสับสน และวิตกกังวลของลูกค้า…..”กฎที่ไม่ชัดเจน นำมาซึ่งความสับสนล้มเหลวในการปฏิบัติเสมอ” โดยเฉพาะกฎที่ใช้ในการควบคุม/กำกับดูแลงานด้านความปลอดภัยฯ ที่มีผู้มีอำนาจรัฐถึง 2 ภาคหน่วย เข้ามาจัดการดูแล……โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนในเรื่องของบุคลากรทางด้านรังสี ภายในสถานประกอบการ
บุคลากรทางรังสี ในปัจจุบัน
1 ผู้รับผิดชอบ ดำเนินการทางเทคนิค ในเรื่องรังสี (กระทรวงแรงงานฯส่งเข้าประกวด)
2 ผู้รับผิดชอบ ดำเนินการทางเทคนิค เกี่ยวกับรังสี (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯส่งเข้าประกวด)
2.1 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ทางรังสี ระดับต้น/กลาง/สูง (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯส่งเข้าประกวด)
3 ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีควบคุม สาขานิวเคลียร์ (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯส่งเข้าประกวด)
4 ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี (นายจ้างส่งเข้าประกวด)
การที่จะสามารถแยกแยะความเหมือน และความแตกต่างของคุณสมบัติ และหน้าที่ความรับผิดชอบ ของบุคลากรทางรังสี ที่ผมยกตัวอย่างในข้างต้น คุณกับผมจะต้องศึกษารายละเอียดของกฎหมายจำนวน 5 ฉบับ จาก 2 กระทรวง ที่มีชื่อชั้นตำแหน่งของบุคลากร ใกล้เคียงกันเหมือนแกล้งคนแก่ ซึ่งในกรณีนี้ลูกค้าของผมประเมินความสอดคล้องทางด้านกฎหมายตามกฎกระทรวงแรงงานฯ แต่จะขอให้มีการจัดสรรบุคลากร เพื่อประจำโครงการ หรือ Project Site ตามประกาศของ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยความสับสน………..ผมไม่ได้มีความรู้สึกหงุดหงิดเบื่อหน่ายลูกค้าแม้แต่น้อย เพราะผมเองที่รับผิดชอบงานความปลอดภัยทางรังสีโดยตรง ยังเคยนั่ง งงงวยงง เป็นไก่ตาแตกมาแล้ว
ดังนั้นในการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลากรทางรังสี ภายในสถานประกอบการ เราคงต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นที่โคร้งสร้างหลักสำคัญของการบริหารจัดการงานด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยทางรังสีครับ เริ่มต้นด้วยหน่วยงานของภาครัฐซึ่งเป็นผู้ออกกฎ สร้างระเบียบกำกับดูแลการดำเนินการของภาคเอกชน ดังต่อไปนี้ครับ
กฎหมายทางรังสีทั้งหมด ที่ออกโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
บทความที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้มีมุ่งหมายไปที่การวิพากษ์วิจารณ์การจัดการของภาครัฐ เพราะคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ พาลจะกลายเป็นแค่ “คนแก่” ที่ปากพร่ำบ่นไปเรื่อยเปื่อย โดยที่ตนเองก็ไม่รู้วิธี/ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน ผมอยากเป็นคนแก่ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความไม่สมบูรณ์แบบของโลกใบนี้ได้มากกว่า มันเท่กว่ากันเยอะ
ดังนั้นต่อจากนี้เราลองมาช่วยกัน คิด วิเคราะห์ แยกแยะ เจตนารมณ์ของกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดวางตัวขุนพลภายในสถานประกอบการของเรา ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายให้มากที่สุด ด้วยกันนะครับ!!
การจัดการบุคลากรทางรังสีภายในสถานประกอบการ
การจัดการบุคลากรทางรังสี ภายในบทความนี้ จะอ้างอิง/ประเมินความสอดคล้องตาม กฎหมายที่ออกโดยกระทรวงแรงงานฯ และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีรายการกฎหมายที่ใช้ในการอ้างอิง และขั้นตอนในการจัดการดังต่อไปนี้
A กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม
ในการทำงานเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน พ.ศ. 2547 (กระทรวงแรงงานฯ)
B กฎ กระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต และการดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ วัสดุต้นกำลัง
วัสดุพลอยได้ หรือพลังงานปรมาณู พ.ศ.2550 (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
C ประกาศคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรังสี พ.ศ.2504 พ.ศ.2549
(กระทรวงวิทยาศาสตร์)
D ประกาศ คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง มาตรฐานการรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี
(กระทรวงวิทยาศาสตร์)
E พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2551
(กระทรวงวิทยาศาสตร์)
F ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม
สาขานิวเคลียร์ พ.ศ. ๒๕๕๗ (กระทรวงวิทยาศาสตร์)
ตอนนี้ทุกท่านมีกฏหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง วางกองอยู่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้วนะครับ เราจะมาเริ่มวิแคะแกะเกาโครงสร้าง และบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางรนังสีกันที่ละขั้นตอนไปพร้อมๆกัน (ดนตรีมา)……เริ่มต้นด้วย
1 ทบทวนสถานะเบื้องต้นของสถานประกอบการ เพื่อพิจารณาการจัดการบุคลากรทางรังสี
จากแผนภาพด้านบน เป็นตัวอย่างของแนวทางในการทบทวนสถานะเบื้องต้นของสถานประกอบการครับ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณา
ตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ACDF ซึ่งกล่าวถึงบุคลากรทางรังสีที่ทางสถานประกอบการต้องจัดให้มี ผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ภายในสถานประกอบการ หรือสถานที่ปฏิบัติงานอื่น (Project Site) โดยพิจารณาถึง อุปกรณ์/เครื่องมือทางรังสี ที่สถานประกอบการมีไว้เพื่อครอบครอง และใช้งานเป็นประเด็นสำคัญ! ยกตัวอย่างเช่น
สถานประกอบการ A
ครอบครองและใช้งาน อุปกรณ์ถ่ายภาพทางอุตสาหกรรมด้วยรังสีแกมมา (Gamma Ray Projector) (ประเภท 2)
ครอบครองและใช้งาน เครื่องวัดเชิงนิวเคลียร์, Nuclear Gauge ( Level Gauge Cs-137) (ประเภท 3)
ดังนั้นจากแผนภาพ สถานประกอบการ A จะต้องมีบุคลากรทางรังสีดังต่อไปนี้ครับ
1.1 ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค ในเรื่องรังสี (กระทรวงแรงงาน)
1.2 ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค เกี่ยวกับรังสี (กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ)
1.2.1 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ระดับกลาง (กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ)
1.3 ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีควบคุม สาขานิวเคลียร์ (กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ)
จากตัวอย่างการทบทวนสถานะเบื้องต้น ในการจัดการบุคลากรทางรังสีตามแผนภาพด้านบน คงจะช่วยให้ทุกท่านพอจะมองเห็นภาพรวม ของการจัดการบุคลากรทางรังสี ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ทั้งนี้แผนภาพดังกล่าวยังคงไม่สามารถชี้บ่ง ถึงขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรแต่ละตำแหน่ง ภายในสถานประกบการ หรือสถานที่ปฏิบัติงานอื่น (Project Site) ได้ และผมเชื่อว่าทุกท่านยังมองไม่เห็นถึงความเหมือน หรือความแตกต่างของบุคลากรทั้ง 1-3 ที่ผมนำเสนอและยกเป็นตัวอย่าง
ดังนั้นในขั้นตอนต่อไปของการจัดการบุคลากรทางรังสี ผมจะนำเสนอถึงภาพรวมของขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ของบุคลากรทางรังสีอ้างอิงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ
2 การจัดการบุคลากรทางรังสี อ้างอิงขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ของบุคลากรทางรังสีตามเจตนารมณ์
ของกระทรวงแรงงานฯ
ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค ในเรื่องรังสี
คุณสมบัติ(สมรรถนะ)
สำเร็จการศึกษาไม่ตำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้ศึกษาและสอบผ่าน
วิชาเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างน้อยสามหน่วยกิจ
…..หรือ…
ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันอันตรายจากรังสี จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือหน่วยฝึก
ที่กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานรับรอง
หน้าที่ความรับผิดชอบ
เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค ในเรื่องรังสี ณ สถานประกอบการ และพื้นที่ปฏิบัติงานอื่น
ตลอดระยะเวลาที่มีการปฏิบัติงานทางรังสี
เสนอแนะ/ให้คำปรึกษาต่อนายจ้าง และลูกจ้าง เกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทางรังสี
รวมถึงให้คำปรึกษาต่อนายจ้าง ในการจัดทำระเบียบปฏิบัติ คู่มือ หรือกฎความปลอดภัยในการ
ปฏิบัติงานทางรังสี เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นแนวปฏิบัติ
ตรวจสอบความปลอดภัย ในการปฏิบัติงานทางรังสี ซึ่งครอบคลุมทั้งการตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติงาน
และความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์/เครื่องมือทางรังสี พร้อมรายงานผลการตรวจสอบต่อนายจ้าง
การแจ้งจำนวนและปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสี
การแจ้งรายงานการเปลี่ยนแปลงของจำนวน หรือปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสี
รายงานการปฏิบัติงานผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิค ในเรื่องรังสี
—-
ผู้เขียนบทความ: นายเทวัญ ชื่นทอง
วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ สาขา อาชีวอนามัยฯ
มหาวิทยาลัย มหิดล PH045-Koon52-Occ.36
ผู้จัดการแผนกความปลอดภัยฯ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยฯ ระดับวิชาชีพ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ระดับกลาง
ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ควบคุม สาขานิวเคลียร์
บทความทั้งหมดนี้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗