3. เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปนาน เสี่ยงเป็นมะเร็ง

เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปีนาน เสี่ยงรับรังสีสูง อาจเป็นมะเร็งได้

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปีในการวินิจฉัยเป็นเวลานานอาจได้รับปริมาณรังสีสูงและมีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง 4 คนต่อบุคลากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าบุคลากรที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ทั่วไปถึง 4 เท่า และเสี่ยงเป็นต้อกระจกเนื่องจากได้รับปริมาณรังสีสูงเกินกว่าที่เลนส์ตาสามารถรับได้ถึง 1.4 เท่า แนะขณะปฏิบัติงานควรใช้อุปกรณ์วัดปริมาณรังสีบุคคลและอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ เสื้อตะกั่ว ไธรอยด์ซีลด์ แว่นตากันรังสี และฉากกำบังรังสีที่ตำแหน่งต่างๆ

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้ทำการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านรังสีการแพทย์ ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556 โดยวิเคราะห์จากอุปกรณ์วัดรังสีบุคคลที่ให้บริการ พบว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงานกับเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปีในห้องส่องกล้อง ห้องผ่าตัด รังสีร่วมรักษา และงานรังสีวินิจฉัยได้รับรังสีกระเจิงเฉลี่ยสูงกว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่น โดยได้รับรังสีทั่วลำตัวเฉลี่ย 0.727 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี เมื่อนำมาคำนวณค่าอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการทำงานด้านรังสีตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการป้องกันอันตรายจากรังสีระหว่างประเทศInternational Commission on Radiological Protection (ICRP) พบว่า บุคลากรเหล่านี้มีความเสี่ยงได้รับปริมาณรังสีสูง เนื่องจากการปฏิบัติงานร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปีเป็นเวลานาน มีอัตราเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง 4 คน ต่อบุคลากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ทั่วไปถึง 4 เท่า ในขณะที่บุคลากรที่ปฏิบัติงานร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ทั่วไปมีอัตราเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งเพียง 1 คนต่อบุคลากรแสนคน ดังนั้นควรป้องกันปริมาณรังสี ทั่วลำตัว (effecttive dose) ไม่ให้เกิน 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี โดยเฉลี่ยย้อนหลังในช่วง 5 ปี และยังพบบุคลากร ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกเนื่องจากได้รับปริมาณรังสีสูงเกินกว่าที่เลนส์ตาสามารถรับได้ถึง 1.4 เท่า หากบุคลากรไม่ใช้แว่นตากันรังสีอาจส่งผลกระทบเกิดเป็นต้อกระจกในอนาคต ควรลดความเสี่ยงปริมาณรังสีเลนส์ตาที่สามารถส่งผลให้เป็นต้อกระจก (equivalent dose) ไม่ให้ได้รับเกิน 150 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี 

นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักถึงความเสี่ยงในการได้รับรังสีจากการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านรังสีในห้องส่องกล้อง ห้องผ่าตัด รังสีร่วมรักษา และงานรังสีวินิจฉัยที่ต้องใช้เครื่องเอกซเรย์ ฟลูออโรสโคปีในการวินิจฉัย เนื่องจากมีความเสี่ยงได้รับรังสีสูงกว่าบุคลากรการแพทย์อื่น จึงได้จัดการอบรมให้ความรู้เบื้องต้นด้านรังสี เรื่องการวัดปริมาณรังสีบุคคลของบุคลากรด้านรังสีจากการกระเจิงของเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี เพื่อให้เกิดมาตรการในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเหมาะสมและได้รับรังสีในขณะปฏิบัติงานน้อยที่สุด และเรื่องการใช้อุปกรณ์วัดรังสีประจำบุคคลอย่างน้อย 2 ชิ้น คือ ติดภายในเสื้อตะกั่วและภายนอกไธรอยด์ชีลด์หรืออุปกรณ์วัดรังสีประจำบุคคลชนิด Extremity เพื่อวัดที่ข้อนิ้วและข้อมือ และขณะปฏิบัติงานควรใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสี ได้แก่ เสื้อตะกั่ว ไธรอยชีลด์ แว่นตากันรังสีและฉากกำบังรังสีที่ตำแหน่งต่างๆ

 

Credit

Page Hfocus

https://www.hfocus.org/content/2014/03/6701