Cath Lab อีกหนึ่งทางเลือกการตรวจรักษาหัวใจแบบ ทู อิน วัน
วิวัฒนาการเรื่องรักษาโรคหัวใจก้าวล้ำไปอย่างต่อเนื่อง และห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ Cath Lab คือ ห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ(Cardiac Catheterization) เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการพัฒนาเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน และให้ผลที่แม่นยำสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน
เมื่อใดจึงควรเข้ารับการตรวจสวนหัวใจ
เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก เจ็บนานมากกว่า 5 นาที เหนื่อยง่าย เหงื่อแตก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม แขน วูบเหมือนจะเป็นลม หัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะตรวจเบื้องต้นถึงโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันจากอาการเจ็บหน้าอกใช่หรือไม่ มีความรุนแรงเพียงใดและตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์, การทำกราฟหัวใจ, การตรวจสารต่าง ๆ ในเลือด, การวิ่งสายพานและอัลตร้าซาวด์หัวใจ เมื่อประมวลผลแล้วมีข้อบ่งชี้ของหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงวินิจฉัยขั้นสุดท้ายด้วยการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ เพื่อวางแผนการรักษาขั้นต่อไป เนื่องจากอัตราของผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจในอนาคตและโอกาสเสียชีวิตฉับพลันสูง ต้องรับการรักษาที่ตรงจุดเพื่อป้องกันโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือป้องกันโรคหัวใจวายที่อาจเกิดขึ้นได้
การตรวจสวนหัวใจเป็นเช่นไร
เมื่อตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจและฉีดสีแล้ว หากพบรอยโรคหัวใจมีการตีบ ตัน และแสดงผลว่าสามารถทำบอลลูนใส่ขดลวด แพทย์สามารถสวนรักษาควบคู่ได้ในคราวเดียวกัน โดยการฉีดยาชาเฉพาะจุด โดยการเจาะใส่สายนำทางผ่านทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ ข้อแขน ข้อพับจุดใดจุดหนึ่งและใช้เข็มขนาด 1.5-2 มิลลิเมตร เจาะใส่ลวดนำทางวางสายนำทางในหลอดเลือดเพื่อนำสายสวนไปยังหลอดเลือดหัวใจทำการวินิจฉัย โดยจะทราบผลทันทีหลังการตรวจ
จุดเด่นของการสวนหัวใจ
สามารถรักษาควบคู่กับการตรวจวินิจฉัยไม่ต้องทำผ่าตัดใหญ่ คนไข้ฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัดใหญ่ ขนาดแผลเล็ก เจ็บตัวน้อย นอนโรงพยาบาลระยะสั้น
ข้อจำกัดของการตรวจสวนหัวใจ
คือ กรณีหลอดเลือดหัวใจมีความตีบตันมาก อุดตันเรื้อรัง ปริมาณหินปูนเกาะจำนวนมาก และเส้นเลือดคดเคี้ยวมาก บางรายอาจไม่สามารถทำได้หรือผลของการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควร
ผู้สูงอายุกับการตรวจสวนหัวใจ
หลายคนมีคำถามบ่อย ๆ ว่าผู้สูงอายุตรวจสวนหัวใจได้หรือไม่ คุณหมอเล่าว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคนไข้วัย 81 ปี เข้ารับการรักษาด้วยอาการเหนื่อย น้ำท่วมปอดจากหลอดเลือดหัวใจตีบและมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย หลังจากที่เคยเข้ารับการสวนหัวใจไปแล้ว 1 เส้น ซึ่งผลการตรวจสวนหัวใจนั้นมีรอยตีบหลายตำแหน่งและค่อนข้างยาว พบได้มากในผู้หญิงสูงอายุ เป็นเบาหวาน แนวทางในการรักษาครั้งนี้เพื่อลดโอกาสการเข้าโรงพยาบาลซ้ำจากอาการน้ำท่วมปอด สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งได้ให้ข้อมูลแนวทางการรักษา 3 ทางกับญาติ คือ การกินยา การสวนหัวใจ และการผ่าตัด โดยญาติเลือกการรักษาด้วยการสวนหัวใจเส้นที่ 2 ซึ่งแพทย์สวนหัวใจใส่ขดลวดแบบเคลือบยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ผลการรักษาสร้างความพึงพอใจให้แก่ญาติและแพทย์เป็นอย่างมาก
ที่มา : http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/1/4/36/th